อังกฤษขวางไมโครซอฟท์เข้าซื้อ “แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด” บริษัทผู้ผลิตเกมอย่าง “คอล ออฟ ดิวตี” หวั่นส่งผลเสียต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกม และทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น
สำนักงานการแข่งขันและการตลาดของอังกฤษ ได้ออกมาแสดงความวิตกว่า การเข้าซื้อกิจการ "แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด" ของ "ไมโครซอฟท์" จะทำให้ผู้บริโภคในตลาดเกมมีตัวเลือกน้อยลงและส่งผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
การเข้าซื้อกิจการ "แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด" มีมูลค่าอยู่ที่ 69,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท นับเป็นการควบรวมกิจการด้วยจำนวนเงินสูงสุดในอุตสาหกรรมเกม
โดย "แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด" เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ที่มีผลงานยอดนิยมมากมาย ทั้ง เวิลด์ ออฟ วอร์คราฟท์ (World of Warcraft) โอเวอร์วอทช์ (Overwatch) และ คอล ออฟ ดิวตี (Call of Duty)
ส่วนไมโครโครซอฟท์มีธุรกิจเกมแบบจ่ายรายเดือน คือ เอ็กซ์บ็อกซ์ เกม พาส (Xbox Game Pass) และธุรกิจสตรีมเกมผ่านระบบคลาวด์ ซึ่ง ไมโครซอฟท์ ครอบครองส่วนแบ่งตลาดนี้มากถึง 60-70% ดังนั้นการเข้าซื้อ แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด จะทำให้ไมโครซอฟท์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอีก
ซึ่งหากการเข้าซื้อกิจการสำเร็จลุล่วง สำนักงานการแข่งขันและการตลาดของอังกฤษ เกรงว่าเกมที่ผลิตโดย "แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด" จะถูกจำกัดการเข้าถึงไว้ที่เฉพาะแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ และ นำไปสู่การปรับขึ้นค่าบริการรายเดือนของ เอ็กซ์บ็อกซ์ เกม พาส
นอกจากในอังกฤษแล้ว ความพยายามเข้าซื้อกิจการแอคทิวิชันของไมโครซอฟท์ยังเผชิญกับกระแสคัดค้านที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากหน่วยงานด้านกำกับกิจการในหลายประเทศ
โดยสำนักงานคณะกรรมการการค้ารัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ยื่นฟ้องคัดค้านการควบรวมกิจการดังกล่าว ด้วยเหตุผลเดียวกับสำนักงานการแข่งขันและการตลาดของอังกฤษ ขณะที่สหภาพยุโรปอยูในระหว่างประเมินผลกระทบจากดีลนี้
อย่างไรก็ตามทั้ง แอคทิวิชัน บลิชซาร์ด และ ไมโครซอฟท์ ยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งยับยั้งการซื้อกิจการต่อตุลาการด้านการแข่งขันในภาคธุรกิจของอังกฤษ
โดยนาย แบรด สมิทธิ์ ประธานไมโครซอฟท์ ระบุว่า การตัดสินใจโดยสำนักงานการแข่งขันและการตลาดอังกฤษน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่ยังมีข้อบกพร่องทั้งในด้านการตลาดและการทำงานของเทคโนโลยีคลาวด์